วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561

การดูแลกาแฟ หลังการปลูก
เป็นการเพิ่มพูนรายได้ซึ่งเป็นผลประโยชน์แก่เกษตรกรโดยตรง ขั้นตอนของการปลูกกาแฟนั้นไม่ยุ่งยาก แต่ต้องปฏิบัติตามหัวใจสำคัญในการปลูกกาแฟ คือ การดูแลกาแฟ หลังการปลูก และการคัดเลือกสายพันธุ์ต้องใช้พันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง ต้นเจริญเติบโตเร็ว ต้านทานโรคและแมลง เป็นสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติตั้งแต่เริ่มต้นการปลูก การปลูกกาแฟ มีประโยชน์โดยรวมในการปลูกทดแทนฝิ่น หรือช่วยหยุดยั้งการทำไร่เลื่อนลอย ใช้ประโยชน์ที่ดินภูเขาซึ่งไม่เหมาะแก่การปลูกพืชไร่ ได้ถูกต้องตามความเหมาะสม กาแฟสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง
ประโยชน์ที่ได้รับจากการดูแลกาแฟให้ดีและถูกต้อง หลังการปลูก กาแฟเป็นไม้พุ่มยืนต้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายปี การเก็บเกี่ยวและกรรมวิธีผลิตเมล็ดกาแฟไม่ยุ่งยาก ผลผลิตเก็บไว้ได้ไม่เน่าเสีย สะดวกในการขนส่งในบริเวณที่การคมนาคมไม่สะดวก เพราะเมล็ดกาแฟแข็งไม่ชอกช้ำเสียหายระหว่างการขนส่ง ผลผลิตมีราคาสูงพอสมควร เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ดังนั้น การดูแลกาแฟอย่างถูกต้องตามขั้นตอน เป็นประจำ สม่ำเสมอ ก็จะส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตร หรือเป็นการเพิ่มพูนรายได้ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
ขั้นตอน การดูแลกาแฟ การให้น้ำ


  • เมื่อต้นโต ช่วงฤดูแล้งควรรดน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนในฤดูฝน อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ หากฝนทิ้งช่วง หรือดินแห้ง ให้ทำการรดน้ำแล้วใช้ฟางข้าวหรือเศษวัชพืชคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นบริเวณโคนต้น
  • กรณีพื้นที่ปลูกไม่มีแหล่งน้ำให้ใช้เศษวัชพืชหรือฟางข้าวคลุมบริเวณโคนต้นตั้งแต่หมดฤดูฝนโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกกาแฟกลางแจ้ง
  • การให้ปุ๋ย
    • ในระยะที่กาแฟยังไม่ติดผล ควรใส่ปุ๋ย 46-0-0 เมื่อ กาแฟเริ่มติดผลแล้ว (ปีที่ 4 เป็นต้นไป) ต้องใช้ปุ๋ย 15-15-15 ใส่ 3 ครั้ง ช่วงเวลา ต้น-กลาง-ปลายฤดูฝน ในปริมาณ 30 ถึง 150 กรัม (1-5 กำมือ) ต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับปริมาณการติดผล และขนาดการเติบโตของลำต้น
    • ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 150 ถึง 200 กรัม ต่อต้น ต่อปี และปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 50 ถึง 100 กรัม ต่อต้น ต่อปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤดูฝนและกลางหรือปลายฤดูฝน ในปีที่ 1 และ 2
    • เมื่อต้นกาแฟให้ผลผลิตแล้วตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป ใส่ปุ๋ยสูตร 15 -15 -15 อัตรา 200 กรัม ต่อต้น ต่อปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤดูฝน และ กลางฤดูฝน และใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 (เมื่อผลมีขนาด เท่าเมล็ดพริกไทย) อัตรา 600 ถึง 800 กรัม ต่อต้น ต่อปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง กลางฤดูฝนและปลายฤดูฝน การฟื้นฟูต้นกาแฟใหม่หลังเก็บเกี่ยวกาแฟและตัดแต่ง กิ่งแล้ว ควรใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก แทนการใช้ปุ๋ยเคมี 50 กิโลกรัม ต่อไร่
    • วิธีการให้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง
      • ใส่โดยการโรยลงบนดินเป็นลักษณะวงกลมรอบทรงพุ่ม และควรมีการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพิ่มด้วยเพื่อปรับสภาพทางกายภาพของดินควบคู่กันไปด้วย

  • การกำจัดวัชพืช
    • ควรมีการปราบวัชพืชทุกครั้งก่อนการใส่ปุ๋ย โดยอาจจะใช้ยาปราบวัชพืชหรือการถากถางตามระยะเวลาและความเหมาะสม
    • การกำจัดวัชพืชสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับฤดูกาล สภาพของ วัชพืช สภาพภูมิประเทศ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการกำจัด
    • วิธีกำจัดวัชพืชในพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ
      1. การใช้แรงงาน หรือ การใช้เครื่องจักรตัดวัชพืชเหนือระดับผิวดิน—เหมาะสำหรับสภาพพื้นที่ ๆ ไม่สามารถ ใช้เครื่องจักรได้ สาหรับการใช้จอบถากหรือดายวัชพืชในสวนกาแฟที่ปลูกบนที่ลาดเชิงเขา แต่ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะการดายหญ้าเป็นการถากเอาหน้าดินออกไปด้วย อาจมีส่วนทำให้เกิดการชะล้างหรือพังทะลายของดินเพิ่มขึ้น
      2. การปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่ว—เพื่อลดปัญหาการแข่งขันของวัชพืช และช่วยรักษาความชื้น เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน
      3. การใช้สารเคมีกาจัดวัชพืช—เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและลงทุนน้อย สามารถใช้ได้ทั้งสวนขนาดเล็กและใหญ่ (ตามอัตราด้านล่าง) โดยผสมน้าสะอาด 60 ถึง 80 ลิตร ต่อไร่ ใช้หัวพ่นรูปพัด พ่นให้ทั่วต้นวัชพืชโดยหลีกเลี่ยงละอองเกสรไม่ให้ไปถูกใบและต้นกาแฟ
      4. การตัดแต่งกิ่ง
        การตัดแต่งกิ่งกาแฟเป็นงานที่สำคัญมากที่สุดงานหนึ่งในการปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตสูง วิธีตัดแต่งกิ่งแบ่งตามสายพันธุ์หลักที่นิยมปลูกได้ดังนี้
        วิธีตัดแต่งกิ่งกาแฟพันธุ์โรบัสต้า
        1. การตัดแต่งหรือการเลี้ยงต้นในระยะปีแรก การตัดแต่งที่เหมาะสมกับกาแฟโรบัสต้าต้องตัดแต่งให้มีกิ่งตั้งจำนวน 3 ถึง 5 กิ่ง คือ หลังจากปลูกกาแฟ ต้นกาแฟจะมีความสูงของลำต้นประมาณ 35 ถึง 45 เซนติเมตร ตัดลำต้นส่วนยอดออกไปให้เหลือลำต้นของกาแฟที่สูงจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นประมาณ 2 เดือน ต้นกาแฟจะแตกกิ่งใหม่ออกมาจำนวน 5 ถึง 7 กิ่ง ให้เลือกกิ่งที่แข็งแรงซึ่งแตกออกมาใหม่ไว้จำนวน 3 ถึง 5 กิ่ง โดยพยายามเลือกกิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน แต่วิธีที่เหมาะสมที่สุดควรเลือกกิ่งไว้ 4 กิ่ง จะดีที่สุด
        2. การตัดแต่งกิ่งหลังจากกาแฟให้ผลผลิต เมื่อปลูกกาแฟมีอายุครบ 3 ปี กาแฟจะเริ่มให้ผลผลิต ลักษณะของกาแฟจะออกดอกติดผลบนกิ่งนอนบริเวณที่ติดผลแล้วใน ปีต่อไปกาแฟจะไม่ออกดอกอีก กาแฟจะออกดอกในกิ่งที่ยังไม่เคยออกดอกเท่านั้น ดังนั้น ในแต่ละกิ่งของกาแฟเมื่อออกดอกติดผลไปแล้ว 4 ถึง 5 ปี พื้นที่ของแต่ละกิ่งที่ออกดอกในปีต่อไปจะน้อยลง ทำให้ผลผลิตแต่ละปีน้อยลงด้วย จึงจำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งใหม่ โดยวิธีดังต่อไปนี้
        • วิธีการตัดแต่งกิ่งแบบทะยอย คือ ให้ตัดกิ่งตั้งหรือลำต้นที่มีจานวน 3 ถึง 5 กิ่ง ออกปีละ 1 ลำต้น ลำต้นที่ถูกตัดไปนั้นจะแตกกิ่งออกมาใหม่ ให้เลือกกิ่งที่แข็งแรงที่แตกออกมาใหม่นั้นไว้ 1 ลำต้น ในปีต่อไปให้ทะยอยตัดปีละ 1 ลำต้น จนครบ 4 ปี ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตกาแฟทุกปี
        • วิธีการตัดแต่งแบบให้เหลือไว้กิ่งเดียว คือ เมื่อกาแฟให้ผลผลิตแล้ว 4 ถึง 5 ปี ให้ตัดลำต้นกาแฟทั้งหมด สูงจากพื้น ดินประมาณ 30 ถึง 40 เซนติเมตร โดยให้เหลือไว้เพียงกิ่งเดียว เพื่อเป็นกิ่งพี่เลี้ยง ต่อมาอีก 2 เดือน ต้นกาแฟจะแตกลำต้นใหม่ออกมา ให้เลือกลำต้นที่แข็งแรงไว้ 3 ถึง 4 กิ่ง ในปีต่อไปจึงตัดกิ่งพี่เลี้ยงออก วิธีนี้ช่วยยืดอายุของต้นกาแฟให้ยาวนานขึ้น
        วิธีตัดแต่งกิ่งกาแฟพันธุ์อราบิก้า
        1. การตัดแต่งกิ่งสำหรับต้นอายุน้อย เมื่อต้นกาแฟอายุเข้าสู่ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตปีที่ 3 เป็นต้นไป หรือกาแฟมีความสูงประมาณ 180 เซนติเมตร โดยตัดกิ่งแขนงที่อยู่บนสุดออก 1 กิ่ง และกิ่งแขนงที่อยู่ต่ำกว่า 25 ถึง 30 เซนติเมตร เหนือระดับพื้นดินออก ส่วนกิ่งแขนง ที่ 2 3 และ 4 ที่ออกมาในทิศทางที่ไม่ขนานกับพื้นดินให้ตัดออก และตัดหน่อที่ออกมาจากลำต้นหลักทิ้งอย่างสม่ำเสมอ
        2. การตัดแต่งกิ่งสำหรับต้นอายุมาก เมื่อต้นกาแฟมีอายุมากกว่า 10 ปี ลำต้นสูง ต้นโทรม และให้ผลผลิตน้อย ดังนั้นควรมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นกาแฟมีลำต้นและกิ่งใหม่ที่สามารถให้ผลผลิตได้อีกครั้ง ซึ่งการตัดมีหลายวิธี ได้แก่
        • วิธีการตัดกิ่งด้านทิศตะวันออกทิ้งทั้งหมด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแตกหน่อและคัดเลือกหน่อที่แตกใหม่ 2 ถึง 4 หน่อ ที่อยู่ระดับความสูงประมาณ 30 ถึง 45 เซนติเมตร เหนือพื้นดิน โดยปล่อยให้หน่อใหม่เจริญเติบโตแข็งแรงแล้วจึงตัดลำต้นเก่าออก และคัดเลือกหน่อที่แข็งแรงไว้ 1 ถึง 2 หน่อ เพื่อเลี้ยงให้หน่อนั้นเจริญเป็นลำต้นหลักต่อไป
        • การตัดเพื่อสร้างลำต้นใหม่ โดยตัดลำต้นเดิมออกทั้งหมดให้สูงจากพื้นดินประมาณ 30 ถึง 45 เซนติเมตร และตัดด้วยเลื่อยเป็นรอยแผลเรียบเฉียง 45 องศา และเมื่อกาแฟแตกหน่อใหม่ให้เลือกเฉพาะหน่อที่แข็งแรงและอยู่ตรงกันข้ามกันไว้ 2 หน่อ หรือเลือกไว้หน่อที่แข็งแรงที่สุดไว้เพียง 1 หน่อ เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นหน่อหลักต่อไป การตัดควรตัดโดยแบ่งพื้นที่ตัดออกเป็นส่วนๆ เช่น ตัด 1 ส่วนจาก 4 ส่วน และตัดส่วนที่เหลือในปีต่อๆ ไปจนครบทั้ง 4 ส่วน ทั้งนี้จะทำให้เกษตรกรยังสามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ทุกปี และสวนกาแฟจะกลับมาให้ผลผลิตเต็มพื้นที่อีกครั้งในปีที่ 5
        การคลุมโคนต้นกาแฟ
        เป็นขั้นตอนการดูแลกาแฟ หลังการปลูกที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นกาแฟต้องประสบกับภาวะแห้งแล้ง ช่วยไม่ให้ต้นกาแฟทรุดโทรมหรือตายเนื่องจากขาดความชื้นในอากาศและในดิน ช่วยป้องกันวัชพืชที่จะงอกในแปลงกาแฟในขณะที่ทรงพุ่มกาแฟยังไม่ชิดกัน และช่วยป้องกันการพังทลายของดินเมื่อเกิดฝนตกหนัก
        วิธีคลุมโคนต้นกาแฟ
        • ใช้ฟางข้าว เศษวัชพืช หรือใบไม้ คลุมโคนต้นกาแฟห่างจากต้นประมาณ 10 ถึง 20 เซนติเมตร ให้มีความกว้าง 1 เมตรและหนาไม่ต่ำกว่า 10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูกาแฟ ป้องกันไม่ให้แมลงศัตรูกาแฟกัดกะเทาะเปลือกกาแฟได้ หรือไม่ให้เกิดอันตรายกับโคนต้นกาแฟในระหว่างที่วัสดุคลุมโคนเกิดการย่อยสลายได้ 
        • (แหล่งข้อมูล : www.thaikasetsart.com, www.arda.or.th, www.kafaesansuk.wordpress.com, www.prd.go.th, www.doa.go.th)

ใส่ปุ๋ยคอกต้นกาแฟ

ปลูกกาแฟแบบฉบับของผม "ดงรักคอฟฟี่" กาแฟดีศรีสะเกษ

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561

ไทยฟาร์ม : เกษตรรุ่นใหม่ปลูกกาแฟแซมสวนยาง พร้อมแปรรูปครบวงจร (2/3) [12/0...

ศรีสะเกษปลูกกาแฟอาราบิก้า.ในร่องสวนยางพารา

การปลูกกาแฟ..ทีศรีสะเกษ (ดงรักคอฟฟี)

ผลวิจัยชี้ดื่มกาแฟช่วยอายุยืนขึ้น

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

โรบัสต้า ราคาพุ่ง 85 บาท/กก. “โรงคั่ว-พ่อค้า” วิ่งซื้อฝุ่นตลบ

ฝนตกชุกภาคใต้ทำดอกกาแฟเน่า ผลผลิตเหลือไม่ถึง 2 หมื่นตัน ดันราคาโรบัสต้าพุ่ง คาดปี”61 ราคากาแฟสารแตะกิโลกรัมละ 85 บาท ด้านผู้ประกอบการกาแฟข้าวสังข์หยดยังฉลุย โตเกินเป้า เตรียมบุกตลาดต่างประเทศ ขณะที่เอสทีกาแฟชี้ราคากาแฟโรบัสต้าดีต่อเนื่อง 4 ปีติด
นายนัด ดวงใส รองประธานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาวะสวนกาแฟยังสดใสกว่าพืชอื่น เพราะตลาดต้องการเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตมีน้อย เนื่องจากกาแฟได้รับความเสียหายจากปัญหาฝนตกในช่วงที่ดอกกาแฟบาน ทำให้ดอกเน่าไม่ให้ผลผลิต 2 ปีซ้อน และปี 2560 ก็ยังคงได้รับความเสียหายจากฝนตกเช่นเดิม


ทำให้ผลผลิตมีไม่ถึง 20,000 ตัน เมื่อรวมกับพันธุ์อราบิก้าทางภาคเหนือ ผลผลิตกาแฟภาพรวมจะมีประมาณ 28,000-30,000 ตัน แต่ความต้องการบริโภคในประเทศสูงถึง 80,000 ตัน/ปี
สวนกาแฟ อ.กันทรลักษ์ (โรบัสต้า)
ดังนั้นหากโรงงานไม่มีสต๊อกกาแฟเก็บไว้ ราคากาแฟสารพันธุ์โรบัสต้าในปี 2561 คาดว่าจะแตะที่ 85 บาท/กก. ขณะที่การนำเข้ามาจากประเทศลาวและเวียดนามเป็นหลัก
“ตลาดกาแฟสดใสมาประมาณ 4 ปีแล้ว โดยระดับราคาที่ไม่ต่ำกว่า 70 บาท บางลอตถึง 80 บาท/กก. เพราะมีคนเพิ่มขึ้น การบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้น ไม่มีลด เฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย ร้านกาแฟขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 100%”
นายชัยยงค์ คชพันธ์ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดคชศิลป์ เบเวอร์เรจ จังหวัดพัทลุง ผู้ผลิตกาแฟเดอลองข้าวสังข์หยดพัทลุง เปิดเผยว่า ในปี 2560 มีการสั่งซื้อข้าวสังข์หยดมาแปรรูปผลิตกาแฟเกินเป้า จาก 10 ตันเป็น 15 ตัน สะท้อนถึงภาวะตลาดกาแฟยังมีทิศทางที่ดี
สำหรับกาแฟข้าวสังข์หยดยังเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2559 ขยายตัวประมาณ 20% ส่วนปี 2560 เติบโตขึ้นอีกประมาณ 10% และในปี 2561 ตั้งเป้าทำยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 20% เพราะเศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นมากนัก
“การตลาดในปี 2561 ตั้งเป้าไว้ จะซื้อ 20 ตัน เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ตามการขยายตัวของกาแฟเดอลองข้าวสังข์หยด โดยจะมีวางจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วภาคใต้ และร้านท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ จำนวน 150 สาขา และที่เคาน์เตอร์ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ รวมทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมหาตลาดต่างประเทศด้วย”
นายชัยยงค์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันจังหวัดพัทลุงเริ่มมีการปลูกกาแฟมาประมาณ 2 ปีแล้ว ที่ อ.กงหรา อ.ป่าบอน จำนวนหลายพันต้น ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในปีที่ 4 มองว่าสวนกาแฟจังหวัดพัทลุงมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้น แต่ระยะยาวก็จะต้องรักษาคุณภาพไว้ให้ได้
ด้านนายปณิธาน โชคดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสที คอฟฟี่ แอนด์ แสงทอง 1982 จำกัด กล่าวว่า ทิศทางราคาของกาแฟโรบัสต้าดีมา 3-4 ปีแล้ว จากเดิมราคาเมล็ดกาแฟสารอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-80 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 90-120 บาท ในส่วนของตนเองนั้น รับซื้อประกันราคากับกลุ่มเกษตรกร โดยรับซื้อเป็นเมล็ดเชอรี่ (เมล็ดสุกสีแดง) ในราคาเฉลี่ย 25 บาท/กิโลกรัม หากคิดเป็นราคากาแฟสารอยู่ที่ประมาณ 125 บาท/กิโลกรัม แต่ในปี 2559 ที่ผ่านมา ต้องขยับราคารับซื้อถึง 30 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเมล็ดกาแฟขาดแคลน และโรงงานขยับให้ราคาสูงถึง 95 บาท/กิโลกรัม
“ปัจจุบันมีเกษตรกรหันกลับมาปลูกกาแฟมากขึ้น เพื่อป้อนโรงคั่วและร้านกาแฟสด เพราะกาแฟโรบัสต้ามีความต้องการของตลาดมาก มีบริษัทที่ลงมาซื้อตรงทั้ง ซี.พี.และ ปตท. ขณะที่โรงคั่วก็เริ่มมาหากาแฟกันมากขึ้น ส่วนที่ปลูกเพื่อส่งเข้าโรงงานแม้จะได้ราคาดีขึ้น แต่มีสัดส่วนที่น้อยกว่า เพราะหากมองความคุ้มค่า มองว่าอนาคตถ้าทำกาแฟคุณภาพดี จะมีโอกาสอีกไกลและไปได้สูง” ที่มาข้อมูล/ประชาติธุรกิจ

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

#อนาคตกาแฟไทยสดใส!! ภาครัฐจับมือเอกชน ชูอุตสาหกรรมกาแฟ ผงาดทั่วในภูมิภาคอาเซียน

อนาคตกาแฟไทยสดใส ภาครัฐและเอกชนร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทยทั้งด้านคุณภาพและปริมาณตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อมผลักดันขึ้นเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ หลังการเติบโตของตลาดกาแฟไทยแตะ 30,000 ล้านบาท ล่าสุดเปิดร่างยุทธศาสตร์กาแฟจัดโครงการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 สร้างความร่วมมือและโรดแมปสร้างอาเซียนเป็นแหล่งผลิตกาแฟสำคัญของโลก

            ดร. วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์กาแฟในช่วงระยะ 5 ปี ช่วงปี2559-2563 ว่า ทางกระทรวงฯ มีเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำในด้านการผลิตและการค้ากาแฟคุณภาพของภูมิภาคอาเซียน โดยจะมีการผลักดันให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรและผู้ดำเนินธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟของไทย เนื่องจากแนวโน้มราคาผลผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพในตลาดโลกมีแนวโน้มที่สูงขึ้น รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟไทยที่มีมูลค่าสูงแตะ 30,000 ล้านบาท

ขณะที่ผลผลิตเมล็ดกาแฟของไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ สาเหตุจากพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลงเหลือ 259,867 ไร่ ทำให้ผลผลิตกาแฟลดลงไปด้วยโดยเหลือเพียง 23,273 ตัน แต่ยังสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรปีผู้ปลูกถึงปีละอย่างน้อย 200 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจกาแฟของไทยมีมูลค่าในการส่งออกประมาณ 3,900 ล้านบาท ในปี 2560 แต่มีมูลค่าการนำเข้าถึงประมาณ 8,044 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมอยู่ที่ 90,000 ตัน และ คาดว่าในปีนี้ (2561) ความต้องการจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 แสนตัน ด้วยเหตุนี้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ องค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงมีการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาการผลิตกาแฟในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เป็นไปอย่างมีระบบ ด้วย 5 กลยุทธ์สำคัญ คือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาด้านการตลาด พัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงพัฒนาด้านการบริหารจัดการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณผลผลิตให้แก่อุตสาหกรรมกาแฟไทย  
ด้าน ดร.อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงที่มาของการจัดการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียนครั้งที่ 1 ว่า ประเทศไทยและประเทศกลุ่มอาเซียนถือว่าเป็นเพียงไม่กี่กลุ่มประเทศที่อยู่เขตพื้นที่เหมาะสมแก่การปลูกกาแฟ หรือ ที่เรียกว่าเขต Bean Belt โดยรายงานขององค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟเอโอ) ระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผลผลิตเมล็ดกาแฟในสัดส่วน 1 ใน 4 ของผลผลิตเมล็ดกาแฟทั่วโลก มีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ใกล้เคียงกับกาแฟจากทวีปแอฟริกา โดยเวียดนามเป็นแหล่งผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสตาอันดับ 1 ของโลก และ เป็นผู้ผลิตกาแฟสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก บราซิล นอกจากนั้นยังมีผู้ผลิตกาแฟสำคัญอย่างอินโดนีเซีย ลาว ไทย และ พม่าที่มีแนวโน้มผลผลิตมากขึ้น ซึ่งหากมีการร่วมมือกันพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ผลิตสายพันธุ์กาแฟ ปลูกและเก็บเกี่ยวจนเป็นสารเมล็ดกาแฟ จนไปถึงปลายน้ำคือผลิตภัณฑ์กาแฟสำหรับดื่มแล้วจะทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนสามารถก้าวขึ้นเป็นแหล่งผลิตกาแฟชั้นนำของโลกได้

 ซึ่งในการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียนครั้งนี้ มีคณะอนุกรรมการการจัดงานรวมทั้งสิ้น 12 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพ สมาพันธ์กาแฟอาเซียน สมาคมบาริสต้าไทย สมาคมกาแฟไทย สมาคมชาวสวนกาแฟไทย สมาคมกาแฟและชาไทย และ มูลนิธิชาวสวนกาแฟ ในฐานะเจ้าภาพร่วม และ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน ภายใต้เป้าหมายที่จะ "เป็นผู้นำการผลิตและการค้ากาแฟคุณภาพในภูมิภาคอาเซียน ก้าวไกลสู่ตลาดโลกภายใต้ภาพลักษณ์กาแฟไทย" ภายในปี 2564

 สำหรับรายละเอียดในการจัดงานฯ นั้น นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล ประธานบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า โครงการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 จะเป็นการประชุมหารือด้านความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทยและอาเซียนโดยมีเป้าหมายหลักร่วมกันในการสร้างการต่อยอดทางความคิดในด้านของวิชาการและด้านธุรกิจ โดยงานประชุมฯ จะจัดขึ้นในวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ภายในงานนอกจากจะมีการประชุมที่สำคัญแล้ว ยังมีกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย อาทิ
- การประกวดการแข่งขัน ACID 2018 Barista Royal Princess Cups ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 รายการ ได้แก่ การแข่งขัน ACID 2018 Brewer Cup Championship และการแข่งขัน ACID 2018 Latte Art Championship ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติที่เปิดรับทั้งผู้เข้าแข่งขันจากไทยและนานาชาติ

- งาน ASEAN Coffee Festival ซึ่งเป็นการจัดแสดงนิทรรศการผลงานด้านวิชาการและงานแสดงสินค้า เพื่อให้องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ได้มีโอกาสนำเสนอภาพลักษณ์และธุรกิจขององค์กรในด้านความยั่งยืน ตลอดจนเปิดโอกาสทางการทำธุรกิจการค้าของทุกกลุ่มตั้งแต่กิจการด้านการเกษตร กิจการโรงคั่ว กิจการโรงงาน กิจการเครื่องมือและเทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจกาแฟ กิจการร้านค้ากาแฟ และ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจกาแฟ รวมทั้งพาวิลเลี่ยนจากบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่นๆ

- การเยี่ยมชมดูงานด้านกาแฟ อาทิ โครงการหลวง แหล่งปลูกกาแฟ โรงคั่วกาแฟ และร้านกาแฟ

ด้วยเหตุนี้จึงอยากเชิญชวนให้ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟและผู้สนใจในกาแฟเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการจัดงานที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟจากต้นน้ำยังปลายน้ำได้อย่างแท้จริง และ เป็นหนึ่งในเครื่องมือของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กาแฟ 2560-2564 ของประเทศไทยให้บรรลุยังเป้าหมายอีกด้วย
ที่มาข้อมูล/https://news.thaiza.com/economic/399357/



#ตลาดกาแฟระส่ำ “พื้นที่ปลูก-ผลผลิต” ลดวูบ ! แห่พึ่งบราซิล-เวียดนาม

พื้นที่ปลูก-ผลผลิตกาแฟไทยลดฮวบจาก 7-8 หมื่นไร่ เหลือ 1.1 หมื่นไร่ หลังเกษตรกรหันปลูกยาง-ปาล์ม-ทุเรียน เนื่องจากราคาดีกว่า ต้องนำเข้าจากเวียดนาม-บราซิลป้อนอุตสาหกรรมกาแฟไทย นายกสมาคมชาวสวนกาแฟไทยแนะรัฐสนับสนุนพันธุ์-ส่งเสริมมาตรฐาน GMP-หาตลาด
นายประยูร สงค์ประเสริฐ นายกสมาคมชาวสวนกาแฟไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตกาแฟไทยลดลงอย่างมาก ทั้งพันธุ์อราบิก้าและโรบัสต้า โดยปี 2560/2561 มีปริมาณเหลือเพียง 11,000 ตันเท่านั้น จากเมื่อปี 2532 มีปริมาณรวมทั้งหมด 70,000-80,000 ตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศมีมากถึง 70,000 ตันต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องนำเข้าผลผลิตจากต่างประเทศจำนวนมาก

โดยแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้าส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ขณะนี้ผลผลิตสูงขึ้น จากที่ได้ผลผลิตไม่เกิน 300-3,000 ตัน/ปี ขณะนี้ได้ประมาณ 5,000 ตัน/ไร่ ราคาซื้อขายอยู่ที่ 150 บาท/กิโลกรัม (กก.) แต่ตลาดค่อนข้างแคบ รวมถึงต้องแข่งขันกับบราซิล ซึ่งราคากาแฟพันธุ์อราบิก้าของไทยสูงกว่าบราซิล จึงทำให้การส่งออกค่อนข้างยาก ปัจจุบันผลิตเพียงเพื่อบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งยังคงเกิน เนื่องจากส่วนใหญ่นำไปทำเป็นกาแฟสดเท่านั้น แต่กาแฟที่ตลาดใหญ่สุด คือ กาแฟอินสแตนท์ และกาแฟมิกซ์
ขณะที่กาแฟพันธุ์โรบัสต้า เป็นสินค้าที่ต้องการในอุตสาหกรรมมากที่สุด โดยมีความต้องการภายในประเทศปีละกว่า 70,000 ตัน ราคาซื้อขายอยู่ที่ 70-90 บาท/กก. ในทางกลับกันผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเมื่อเข้า AEC ก็ทำให้มีการนำเข้ากาแฟผง กาแฟสำเร็จรูปได้ ขณะเดียวกันเมื่อราคาสูง ทำให้พ่อค้าไม่ซื้อผลผลิตของไทย และไปนำเข้าจากเวียดนาม โดยทางสมาคมก็มีการตั้งคณะกรรมการที่จะดูแลเรื่องโควตาขึ้นมาเพื่อช่วยพยุงชาวสวน
โดยปัจจัยหลักมาจากเกษตรกรเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชตามราคาพืชที่สูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน เป็นต้น ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงนโยบายของภาครัฐไม่แน่นอน เช่น การส่งเสริมไม่ชัดเจน ทำให้พืชที่ปลูกลดลง อีกทั้งผลผลิตกาแฟที่ได้ต่อไร่ไม่สูง ขณะนี้ผลิตได้เพียง 120 กก./ไร่ และปัญหาต้นทุนที่สูง โดยเฉพาะแรงงาน เนื่องจากการปลูกกาแฟต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เมื่อรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คนไทยก็ไม่อยากทำงาน เช่นเดียวกับแรงงานต่างชาติก็ไม่ค่อยทำงานในภาคเกษตร ปัจจุบันค่าแรงอยู่ที่ 400-500 บาท/วัน หรือค่าแรงเก็บกาแฟในอดีตเฉลี่ยอยู่ที่ 16 บาท/ถัง หรือกิโลกรัมละ 1 บาท ปัจจุบันค่าแรงเก็บกาแฟสูงถึง 10-20 บาท/กก. จึงทำให้ไทยไม่สามารถสู้อาเซียนได้
“มองวิธีการลดต้นทุน ไม่เพียงแต่เกษตรกรเท่านั้น แต่ภาครัฐต้องมีส่วนช่วย ได้แก่ การหาต้นพันธุ์ที่ดีให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก การปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกร การมุ่งเน้นมาตรฐาน GMP ให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ผลผลิตมากขึ้น โดยมองว่าผลผลิตต่อไร่ควรจะได้ 300 กก.ขึ้นไป/ไร่ ราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันต้องช่วยหาตลาด” ที่มาข้อมูล/ประชาชาติธุรกิจ

#สนใจปลูกกาแฟ เชิญทางนี้

กาแฟ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
วงศ์ (Family):  Rubiaceae
จีนัส (Genus):  Coffea
สปีชีส์ (Species): C. Canephora                 
ชื่อสามัญ (Common name): Robusta Coffee
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): Coffea robusta Pierre ex Froehner L.
ราก

          กาแฟมีรากแก้ว และมีรากแขนงแตกออกจากรากแก้ว ประมาณ 4 ถึง 8 ราก รากแขนงจะมีรากฝอย และจากรากฝอยจะมีรากแตกออกมาอีกเป็นรากสำหรับดูดอาหาร  รากชนิดนี้มีจำนวนประมาณ 60 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จะแผ่กระจายในระดับผิวดินลึก ประมาณ  20 เซนติเมตร
ลำต้นและกิ่ง

          ลำต้น (Main Stem) เป็นลำต้นเจริญเติบโตมาจากรากแก้ว มีลักษณะเป็นข้อและปล้อง ในขณะที่กาแฟต้นยังมีขนาดเล็กจะเห็นได้ชัด โดยใบจะอยู่ตามข้อของลำต้น เมื่อต้นโตขึ้นใบจะร่วงหล่นไป และโคนใบของกาแฟมีตา 2 ชนิด คือ ตาบนและตาล่าง ตาบนจะแตกกิ่งออกมาเป็นกิ่งแขนงที่ 1 (Primary Branch) เป็นกิ่งลักษณะเป็นกิ่งนอนขนานกับพื้นดินมีข้อและปล้อง แต่ละข้อของกิ่งแขนงนี้จะมีกลุ่มตาดอกที่จะติดดอกเป็นผลกาแฟต่อไป ส่วนตาล่างจะแตกออกเป็นกิ่งตั้ง (Sucker) กิ่งตั้งจะตั้งตรงขึ้นไปเหมือนลำต้น ไม่ติดดอกผล แต่สามารถสร้างกิ่งแขนงที่สามารถให้ดอกผล เรียกเป็นกิ่งแขนงที่ 1 เช่นกัน กิ่งแขนงที่ 1 สามารถแตกกิ่งแขนงต่อไปได้อีกเป็นกิ่งแขนงที่ 2 และกิ่งแขนงที่ 2 สามารถแตกเป็นกิ่งแขนงที่ 3 ได้อีก กิ่งแขนงเหล่านี้จะเกิดในลักษณะเป็นคู่สลับเยื้องกันบนลำต้นหรือกิ่งตั้ง เมื่อมีการตัดลำต้นกาแฟ ตาล่างบนลำต้นจะแตกกิ่งตั้งขึ้นมา กิ่งตั้งจะแตกเป็นกิ่งแขนงที่ 1 กิ่งที่ 2 และ 3 จากนั้นมีการสร้างดอกและผลกาแฟอีกต่อไป

ใบ

          ลักษณะเป็นใบเดี่ยว  ก้านใบสั้น  โคนใบและปลายใบเรียวแหลม ตรงกลางใบกว้าง ผิวใบเรียบ นุ่มเป็นมัน ขอบใบหยักเป็นคลื่น ขนาดของใบขึ้นกับพันธุ์กาแฟ ใบจะเกิดที่ข้อเป็นคู่ตรงข้ามกัน ส่วนปากใบอยู่ด้านท้องใบ แต่ละใบจะมีปากใบประมาณ 3 ล้านถึง 6 ล้านรู  ปากใบของกาแฟโรบัสต้ามีขนาดเล็กกว่าปากใบของกาแฟอาราบิก้า  แต่มีจำนวนมากกว่า อายุใบประมาณ 250 วัน

ช่อดอกและดอก

          ดอก  ปกติดอกกาแฟจะมีลักษณะเป็นดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศ มีกลีบดอก จำนวน 4 ถึง 9 กลีบ กลีบเลี้ยง จำนวน 4 ถึง 5 ใบ มีเกสร 5 อัน รังไข่ 2 ห้อง แต่ละห้องของรังไข่จะมีไข่ 1 ใบ ผลกาแฟจึงมี 2 เมล็ด ดอกกาแฟจะออกเป็นกลุ่มๆ บริเวณโคนใบบน  ข้อของกิ่งแขนงที่ 1 แขนงที่ 2 หรือ 3 กลุ่มดอกแต่ละข้อมีดอก จำนวน  2 ถึง 20 ดอก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของต้นตา  ดอกจะออกจากกิ่งแขนงจากข้อที่อยู่ใกล้ลำต้นออกไปหาปลายกิ่งแขนง  ปกติกาแฟจะออกดอกตามข้อของกิ่ง ข้อที่ออกดอกผลแล้วในปีต่อไปจะไม่ออกดอกและให้ผลอีก
ผลและเมล็ด

          ผล ผลของกาแฟมีลักษณะคล้ายลูกหว้า รูปรี ก้านผลสั้น ผลดิบสีเขียว  เมื่อเวลาผลสุกจะมีสีเหลือง สีส้ม สีแดง ผลของกาแฟจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. เปลือก (Skin)  2. เนื้อ (Pulp) มีสีเหลือง เมื่อสุกมีรสหวาน 3. กะลา (Parchment) จะห่อหุ้มเมล็ด ช่วงระหว่างเมล็ดกับกะลาจะมีเยื่อบางๆ หุ้มเมล็ดอยู่เรียกว่า เยื่อหุ้มเมล็ด (Silver Skin)  ผลกาแฟแต่ละผลจะมี 2 เมล็ดประกบกัน  ด้านที่ประกบกันจะอยู่ด้านในมีลักษณะแบน มีร่องบริเวณกลางเมล็ด 1 ร่อง  ส่วนด้านนอกมีลักษณะโค้ง ลักษณะเมล็ดจะเป็นเดี่ยวหรือเมล็ดโทน (Pea Bean, Pea Berry) ในบางครั้งหากการผสมเกสรไม่สมบูรณ์ จะทำให้ผลติดเมล็ดเพียงเมล็ดเดียว ผลกาแฟมีเมล็ดเพียงเมล็ดเดียวรูปร่างกลมรีทั้งเมล็ด โดยมีร่องบริเวณกลางเม็ด 1 ร่อง (ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ; กรมวิชาการเกษตร)
การปลูกและการดูแลรักษา
          ระยะปลูกระหว่างต้นและแถว  ระยะ 3 ถึง 4 x 3 เมตร อายุต้นกล้า 6 ถึง 14 เดือน และควรมีการทำร่มเงาชั่วคราวหรือปลูกพืชให้ร่มเงา เช่น สะตอ แค กระถิน เป็นพืชร่วมด้วย
การเตรียมพื้นที่

          พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกกาแฟควรเป็นพื้นที่ที่มีความสูง ประมาณ 800 ถึง 12,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความลาดชันไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และต้องทำการกำจัดวัชพืชโดยการถางให้โล่ง การโค่นล้มพืชพรรณเก่าในพื้นที่ อาจจะโค่นล้มแบบเหลือตอ หรือโค่นล้มแบบถอนราก การโค่นล้มอาจจะเว้นต้นไม้เก่าไว้บ้างเพื่อใช้เป็นไม้ร่มเงา ซึ่งต้องพิจารณาถึงความจำเป็นของไม้ร่มเงาด้วย หลังจากโค่นล้มต้องมีการกำจัดพืชพรรณเก่าในแปลงโดยการกองแล้วเผาให้สะอาด เตรียมทำแนวระดับ การเตรียมพื้นที่ส่วนมากเริ่มเตรียมในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้พร้อมสำหรับปลูกกาแฟในฤดูฝนที่จะมาถึง (ประมาณเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม) ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ชั้นดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร มีความเป็นกรดด่าง 5.5  ถึง 6.5 และสามารถระบายน้ำได้ดี
การปลูก 

          การปลูกกาแฟโดยทั่วไปจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและความต้องการของผู้ปลูกเองหลักการโดยทั่วไปคือ การกำหนดระยะปลูก ประชากรที่เหมาะสมของกาแฟที่จะให้ผลผลิตที่ดี จะอยู่ประมาณ 150 ถึง 200 ต้นต่อไร่แต่สามารถที่จะเพิ่มหรือลดจำนวนกว่าปกติได้ ขึ้นกับวิธีการปลูกดังนี้ คือหากจะเพิ่มจำนวนให้มากกว่านี้ การตัดแต่งต้นกาแฟจำเป็นจะต้องออกแบบให้เหมาะสมเพื่อให้ต้นกาแฟสามารถรับแสงเต็มที่ในการติดดอกออกผล บางครั้งจะต้องตัดทั้งต้นสลับแถวเพื่อให้เกิดช่องว่างในพื้นที่  แล้วต้องเลี้ยงต้นใหม่จนอายุ ประมาณ 3 ปีก็จะออกดอกติดผลอีก แต่ก็ต้องตัดต้นกาแฟในแถวใกล้เคียงกันออกเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับต้นใหม่เช่นกัน โดยมีหลักการว่าต้นกาแฟจะติดดอกออกผลเมื่อต้นมีอายุประมาณ 3 ปีและต้นกาแฟที่อายุมากขึ้นจะให้ผลผลิตลดลงและการจัดการจะยุ่งยากมากขึ้น ดังนั้นการจัดการวิธีการปลูกจะต้องวางแผนให้แน่นอนและชัดเจน

          การปลูกส่วนมากแล้วจะมาจากต้นกล้าที่ชำในถุงพลาสติก  ดังนั้นก่อนที่จะนำลงปลูกในหลุมจำเป็นที่จะต้องนำถุงพลาสติกออกเสียก่อน แล้วนำมาวางในหลุมที่ขุดให้มีขนาดพอใส่ถุงลงได้ และระมัดระวังอย่าให้รากแก้งคดงอ หลังจากนั้นนำดินมาใส่ให้เต็มโคนต้นและกดรอบๆ โคนต้นให้ดินแน่น ในกรณีที่ปลูกจากต้นกล้าที่ชำในแปลง และมีการถอนรากควรเลือกช่วงปลูกที่มีฝนตกสม่ำเสมอ หากฝนไม่ตกควรรดน้ำจนกว่าต้นกล้าจะตั้งตัวได้

          ไม้ร่มเงา เป็นวิธีการที่นิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงาแก่ต้นกาแฟในระยะแรก และมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน โดยไม้บังร่มกาแฟแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ไม้บังร่มเงาชั่วคราว และไม้บังร่มเงาถาวร โดยไม้ร่มเงาชั่วคราว ได้แก่ พืชล้มลุก เช่น ข้าวโพด ปอเทือง กล้วย เป็นต้น ส่วนไม้ร่มเงาถาวร ได้แก่ ไม้ยืนต้น เช่น สะตอ ทองหลาง มะพร้าว แค ขี้เหล็ก เป็นต้น แต่การปลูกไม้ร่มเงานั้นควรมีการจัดการตัดแต่งไม้ร่มเงา เพื่อให้ต้นกาแฟได้รับแสงที่เหมาะสมเพื่อการติดดอกออกผลที่เต็มที่ด้วย เพราะบางครั้งหากการจัดการไม่ดี ไม้ร่มเงาจะเป็นตัวต้นเหตุของการทำให้ผลผลิตกาแฟลดลงได้เพราะจะเป็นการบังต้นกาแฟมากเกินไป และอาจจะแย่งน้ำและอาหารจากต้นกาแฟได้

ระยะปลูก 

          ระยะปลูกที่เป็นมาตรฐาน คือ ระยะ 3 x 3 เมตร จะได้ปริมาณต้นกาแฟ จำนวน 177 ต้นต่อไร่ การปลูกที่มีการวางแผนจะเป็นการปลูกในลักษณะตัดเป็นแถว เรียกว่าการปลูกแบบฮาวาย ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องจัดระยะชิดกว่าที่กล่าวมา  ดังนั้นการเตรียมหลุมปลูก  หากมีการไถพรวนอย่างดีก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขุดหลุมให้มีขนาดกว้างมากนัก แต่หากไม่มีการไถพรวนจำเป็นที่จะต้องขุดหลุม ให้มีขนาดกว้าง 50 x 50 x 50 เซนติเมตร แล้วทำการกลบหลุม  ในขณะที่มีการเริ่มปลูกควรใส่ปุ๋ย Rock Phosphate (ปุ๋ยรองหลุม) จำนวนประมาณ 200 กรัมต่อหลุม
การให้น้ำ 

          พื้นที่ปลูกกาแฟที่เหมาะสม  ส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นที่ที่มีความสูงในระดับตั้งแต่ 700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ซึ่งจะอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ  โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 1,500 มิลลิเมตร และมีการกระจายของฝนตั้งแต่ระยะเวลา 5 ถึง  8 เดือน ในรอบ 1 ปี นอกจากนั้นยังมีสภาพอากาศหนาวเย็น และมีความชื้นสูง จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องอาศัยระบบการให้น้ำกับต้นกาแฟ และหากปลูกกาแฟร่วมกับไม้ผลยืนต้น หรือปลูกกาแฟภายใต้สภาพร่มเงาร่วมกับไม้ป่าโตเร็ว รวมถึงการคลุมโคนต้นก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ปลูกไม่ต้องพึ่งพาระบบชลประทาน
การตัดแต่งกิ่ง 

          การตัดแต่งแบบต้นเดี่ยวของอินเดีย (Indian Single Stem Pruning) หรือการตัดแต่งแบบทรงร่ม (Umbrella) เป็นวิธีการตัดแต่งกิ่งที่ใช้กับกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกภายใต้สภาพร่มเงา โดยมีขั้นตอนดังนี้
  1. เมื่อต้นกาแฟเจริญเติบโตจนมีความสูง 90 เซนติเมตร ต้องตัดยอดให้เหลือความสูงเพียง 75 เซนติเมตร
  2. เลือกกิ่งแขนงที่ 1 (Primary Branch) ที่อ่อนแอทิ้ง จำนวน 1 กิ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยอดฉีกบริเวณส่วนกลางของกิ่งและต้องหมั่นตัดยอดที่จะแตกออกมาจากโคนกิ่งแขนงของลำต้นทิ้งทุกยอด และกิ่งแขนงที่ 1 จะให้ผลผลิตในระยะเวลา 2 ถึง 3 ปีก็จะแตกกิ่งแขนงที่ 2 (Secondary Branch) ส่วนกิ่งแขนงที่ 3 (Terriary Branch) และกิ่งแขนงที่ 4 (Quarternary Branch) ให้ผลผลิตช่วงระยะเวลา 1 ถึง 8 ปี
  3. เมื่อต้นกาแฟให้จำนวนผลผลิตลดลง จะต้องปล่อยให้มีการแตกยอดออกมาใหม่ 1 ยอดจากโคนของกิ่งแขนงที่ 1 ที่อยู่สูงสุดหรือถัดลงมา และเมื่อยอดสูงไปถึงระดับ ความสูง 170 เซนติเมตร ตัดให้เหลือความสูงเพียง 150 เซนติเมตรโดยการตัดกิ่งแขนงที่ 1 ที่อยู่สูงสุดให้เหลือเพียง 1 กิ่ง ซึ่งจะสามารถให้ผลผลิตต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 8 ถึง 10 ปี
                การตัดแต่งแบบหลายลำต้น (Multiple stem pruning system) วิธีการนี้จะใช้กับต้นกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกอยู่บริเวณกลางแจ้ง โดยจะทำให้เกิดต้นกาแฟหลายลำต้น มาจากโคนต้นที่ถูกตัด แต่คัดเลือกเหลือเพียงลำต้น 2 ลำต้น ซึ่งมีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
  1. เมื่อต้นกาแฟมีความสูงถึง 69 เซนติเมตร ให้ทำการตัดยอดให้เหลือความสูงเพียง 53 เซนติเมตร  หากเหนือพื้นดินมียอดแตกออกมาจากข้อโคนกิ่งแขนงที่ 1 จากคู่ที่อยู่บนสุด 2 ยอด จะต้องตัดกิ่งแขนงที่ 1 ทิ้งทั้ง 2 ข้าง
  2. ปล่อยให้ยอดทั้ง 2 ยอด เจริญเติบโตขึ้นไปทางด้านบน ในขณะเดียวกันกิ่งแขนงที่ 1 ที่อยู่ต่ำกว่าความสูง 53 เซนติเมตร จะเริ่มให้ผลผลิต
  3. กิ่งแขนงที่ 1 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าความสูง 53 เซนติเมตร จะถูกตัดทิ้งไปหลังจากที่ให้ผลผลิตแล้ว ในขณะเดียวกันกิ่งแขนงที่ 1 ที่อยู่ระดับล่างๆ ของลำต้นทั้งสองก็เริ่มให้ผลผลิต
  4. ต้นกาแฟที่เจริญเติบโตเป็นลำต้นใหญ่  2 ลำต้น จะสามารถให้ผลผลิตอีก จำนวน 2 ถึง 4 ปี และขณะเดียวกันก็จะเกิดหน่อขึ้นมาเป็นลำต้นใหม่อีกบริเวณโคนต้นกาแฟเดิม และควรปล่อยหน่อที่แตกใหม่ให้เจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ และตัดให้เหลือเพียง 3 ลำต้น
  5. ให้ตัดต้นกาแฟเก่าทั้ง 2 ต้นทิ้งและเลี้ยงหน่อใหม่ที่เจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ ซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้อีก จำนวน 2 ถึง 4 ปี แล้วจึงทำการตัดต้นเก่าเพื่อให้แตกต้นใหม่อีก
การคลุมโคนต้นกาแฟ 

          การคลุมโคนต้นกาแฟมีประโยชน์มาก  โดยเฉพาะในช่วงที่สวนกาแฟต้องประสบกับภาวะแห้งแล้ง เป็นการช่วยไม่ให้ต้นกาแฟทรุดโทรมหรืออาจจะตายได้ เนื่องจากขาดความชื้นในอากาศและในดิน นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันวัชพืชที่จะงอกในแปลงกาแฟในขณะที่ทรงพุ่มกาแฟยังไม่ชิดกัน และยังเป็นการป้องกันการพังทลายของดินเมื่อเกิดฝนตกหนัก แต่มีข้อควรระวังในการคลุมโคนต้น คืออาจจะกลายเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูกาแฟ ดังนั้นการคลุมโคนต้นกาแฟควรจะคลุมโคนต้นให้ห่างจากต้นกาแฟประมาณ 10 ถึง 20 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงศัตรูกาแฟกัดกะเทาะเปลือกกาแฟได้ หรือไม่ให้เกิดอันตรายกับโคนต้นกาแฟในระหว่างที่วัสดุคลุมโคนเกิดการย่อยสลายได้  โดยคลุมโคนต้นให้มีความกว้าง 1 เมตรและหนาไม่ต่ำกว่า 10 เซนติเมตร
การปราบวัชพืชและการใส่ปุ๋ย

          ควรมีการปราบวัชพืชทุกครั้งก่อนการใส่ปุ๋ย โดยอาจจะใช้ยาปราบวัชพืชหรือการถากถางตามระยะเวลาและความเหมาะสม และการใส่ปุ๋ยก็เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการปลูกกาแฟ จะต้องพิจารณาทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองว่าต้องเพียงพอกับต้นกาแฟ  ซึ่งจะสังเกตลักษณะของใบได้ ซึ่งมีรายละเอียดมากมายเกินที่จะกล่าวในที่นี้ แต่สูตรปุ๋ยที่ใช้โดยทั่วไป มักจะเป็นสูตรที่มีการมีความนิยม คือ สูตร 15-15-15 หรือสูตร 16-16-16 เป็นต้น วิธีการใส่ปุ๋ยนั้นจะใส่โดยการโรยลงบนดินเป็นลักษณะวงกลมรอบทรงพุ่ม โดยใส่ปุ๋ยในปีที่ 1 ถึง 3 ส่วนต้นกาแฟที่ยังไม่ให้ผลผลิต  ควรใส่ระยะเวลาประมาณ  2 ถึง 3 ครั้งต่อปี โดยใส่ครั้งละประมาณ 100 ถึง 300 กรัมต่อต้น  และควรมีการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพิ่มด้วยเพื่อปรับสภาพทางกายภาพของดินควบคู่กันไปด้วย
ปัจจุบันมูลค่ากาแฟได้เพิ่มมูลค่าขึ้นมาอย่างมากมาย และผู้บริโภคกาแฟทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งไทยและต่างประเทศทั่วโลก และประเทศไทยเองยังนำเข้าวัตถุดิบกาแฟเพื่อมาผลิตกาแฟในประเทศไทยเพราะผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของการส่งเสริมปลูกกาแฟในภาคอีสานเพิ่ม เพื่อป้อนโรงคั่วส่งออกกาแฟ ซึ่งเป็นแบรน์ยี่ห้อของตัวเองและส่งเสริมพี่น้องเกษตรกรให้ปลูกกาแฟโดยการปรับเปลี่ยนพืชปลูกหรือปลูกเสริม จึงเป็นที่มาของชื่อภายใต้ บริษัทดงรักคอฟฟี่ จำกัด ตั้งอยู่ที่ บ้านศรีเจริญทรัพย์ 92 ม.12 ต.ท่าคล้อ อ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้ส่งเสริม จำหน่ายพันธ์กาแฟ ผลิตกาแฟสำเร็จรูป รับซื้อผลผลิต ร่วมกับในเครือบริษัทอาราบิก้า คอฟฟี่ บีน อ.เทพเสด็จ จ.เชียงใหม่ ผู้ผลิตสายพันธ์กาแฟ โรงคั่ว โรงตาก รับซื้อ ผลิตกาแฟสำเร็จรูป และบริษัทไทยพสิทฐ์ ปุ๋ยอิเตอร์ โรงานผลิตปุ๋ย เคมี+อินทรีย์ ทุกชนิด ร่วมส่งเสริมด้านการตลาดส่งออกกาแฟไทย






วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561